วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แนะคืนลอยกระทงเด็กสาวรักนวลสงวนตัว อย่าใช้เซ็กส์มัดใจคนรัก

อธิบดีกรมควบคุมโรค ห่วงเยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็ว ส่งผลท้องไม่พร้อม ติดโรคมาก เผยโรคซิฟิลิสดื้อยาเกือบ 100% แนะคืนลอยกระทงเด็กสาวรักนวลสงวนตัว อย่าใช้เซ็กซ์มัดใจคนรัก
นายพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุยังน้อยและขาดการป้องกัน พบว่าเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 เคยมีเพศสัมพันธ์ 4-20% มัธยมศึกษาปีที่ 5 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว 40% กลุ่มอาชีวะศึกษาเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว 60% ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กเกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของแม่ที่เป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 20 ปี จำนวน 1.6 แสนคน หรือคิดเป็น 80% ของเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นเยาวชนทั้งหมด และเนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในวัยเรียนจึงไม่ได้มีการวางแผนครอบครัวมาก่อน ส่งผลไปถึงคุณภาพชีวิต ร่างกาย จิตใจทั้งของตัวเยาวชนและลูกที่เกิดมาด้วย
นอกจากนี้ พบว่ามีเยาวชนติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ทั้งโรคเอดส์ หนองใน ซิฟิลิส จากข้อมูลล่าสุด พบว่าเกือบ 100% ของผู้ที่ติดเชื้อซิพิลิสเกิดการดื้อยา น่าเป็นห่วงมาก เพราะเชื้อโรคนี้จะเข้าไปทำลายประสาทกล้ามเนื้อ เมื่อเป็นแล้วหากไม่เสียชีวิตก็อาจจะทำให้พิการได้ และลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นโรคดังกล่าวมีโอกาสพิการ เพราะฉะนั้นในโอกาสวันลอยกระทงที่จะถึงนี้ อยากรณรงค์ให้เยาวชนอย่าปล่อยให้ตัวเองไปเสี่ยงกับการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆซึ่งอาจเกินเลยไปถึงการตั้งครรภ์ไม่พึง ประสงค์ด้วย ไม่เฉพาะลอยกระทง แต่รวมไปถึงเทศกาลปีใหม่และวันวาเลนไทน์ โดยเฉพาะผู้หญิงต้องระวัง อย่าคิดว่าจะไปผูกใจชายด้วยการมีเพศสัมพันธ์

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ลอยกระทงสร้างสรรค์ ต้องไม่ทำลาย


เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงทีไร หลายองค์กรต่างออกมาร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงข้อเสียต่างๆ ที่ล้วนสร้างความสูญเสียตลอดจนทำลายวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ล่าสุดมีผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเพณีลอยกระทงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา พบว่า สิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันลอยกระทงคือ การจุดประทัด พลุไฟ 29% การทะเลาะวิวาท 26% ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์มีถึง 23% รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ 19%
แล้วจะลอยกระทงอย่างไรให้สร้างสรรค์? คิดง่ายๆ เลยคือ “การสร้างสรรค์ คือการไม่ทำลาย” เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การลอยกระทงครั้งนี้เกิดการทำลายน้อยที่สุด หรือถ้าไม่ทำลายเลยก็จะดีที่สุด ซึ่งหากมองย้อนกลับไป ภาพที่จดจำได้ชัดเจนหลังจากเทศกาลลอยกระทงจบลงในวันรุ่งขึ้นเราจะเห็นขยะ จำนวนมหาศาลเป็นเศษกระทงทั้งที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและทำจากวัสดุเคมี สังเคราะห์ อย่างโฟม กระดาษ และพลาสติก ซึ่งเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายหลายสิบปีเลยทีเดียว         
เมื่อรู้และเข้าใจถึงปัญหาชัดเจนแล้ว คราวนี้เราลองมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครั้งนี้กัน เริ่มจากลองคิดดูซิว่า จะทำกระทงแบบไหนดีที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ และทำลายสิ่งแวดล้อม อาจจะมองหาสิ่งใกล้ตัวและเอามาดัดแปลง เป็นวิธีการทำกระทงแบบ DIY เน้นประหยัด ทำง่าย และให้คุ้มค่ามากที่สุด ตัวอย่าง การทำกระทง DIY แบบง่ายมากคือ กระทงน้ำแข็ง เพราะเมื่อน้ำเจอกับน้ำสักพักก็จะละลายหายไปไม่ก่อให้เกิดขยะแน่นอน วิธีทำก็แสนง่าย เอาน้ำใส่ขันแช่เย็นจนเป็นก้อนน้ำแข็ง แล้วใช้ดอกไม้ประดับด้านบน แค่นี้ก็สามารถเป็นกระทงรักษ์โลกได้แล้ว อีกตัวอย่างที่อยากแนะนำคือ กระทงจากเปลือกแตงโม เริ่มจากผ่าครึ่งลูกแตงโมง แล้วคว้านเอาเนื้อออกจนเหลือแต่เปลือก หาดอกไม้มาประดับสักหน่อย เท่านี้ก็จะได้กระทงแตงโมงหน้าตาน่ารัก ส่วนเนื้อแตงโมก็เอาแช่ตู้เย็นรับประทานชื่นใจ
นอกจากนี้ยังมีไอเดียการทำกระทงรักษ์โลกง่ายๆ จาก น้องแซ ตรีชฎา หวังพิทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่จะทำกระทงจากกะลามะพร้าว
“ปี นี้แซจะทำกระทงจากกะลามะพร้าว เนื่องจากจำนวนกะลามะพร้าวมีอยู่มากหาได้ไม่ยาก ทรงโค้งๆ ของกะลามะพร้าวจะช่วยทำให้กระทงลอยน้ำได้อย่างไม่ต้องกลัวจม และถ้าใครอยากจะประดับตกแต่งให้สวยงามก็สามารถทำได้ ที่สำคัญควรเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งของกะลามะพร้าวก็คือ ไม่มีน้ำซึมเปียกเลอะเสื้อผ้า เหมือนกระทงปกติทั่วไปที่ทำจากหยวกกล้วย  อีกทั้งราคากะลามะพร้าวยังสบายกระเป๋าสุดๆ ค่ะ”
ส่วนวัยรุ่นคนไหนที่ไม่ชอบออกไปเบียดเสียดกับคนข้างนอก น้องก้อย กฤชภร ผิวเหลือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสารสนเทศ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แนะ นำว่า ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่สร้างแคมเปญรณรงค์การลอยกระทงออนไลน์ ขึ้นมา เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เรียบง่าย ไม่ชอบออกไปพบปะกับผู้คนข้างนอกสักเท่าไหร่ โดยที่เพียงแค่เข้าไปในเว็บไซต์นั้น ก็จะมีให้เลือกว่าจะลอยกระทงแบบไหน อธิษฐานว่าอะไร แล้วก็กดลอยกระทงได้เลย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์ประเพณีไม่ให้สูญหาย และยังช่วยลดปริมาณขยะที่จะตามมาภายหลังอีกด้วย เท่านี้เราก็จะได้ลอยกระทงตามแบบฉบับของคนออนไลน์แล้วค่ะ
ทั้งนี้ความสำคัญของประเพณีลอยกระทงนั้น ก็คือ การขอขมาต่อพระแม่คงคา การระลึกถึงความสำคัญของน้ำและการไม่ทำลายแหล่งน้ำ ให้ถือว่าเรามีความตั้งใจ และมีเจตนาดี วิธีการทำกระทงแบบ DIY ที่แนะนำไปนั้น จึงไม่น่าจะผิดประเพณีใดๆ หากแต่แค่เป็นการปรับวิธีเสียใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีกับสถานการณ์ในปัจจุบันนั่นเอง
จากตัวอย่างที่ได้แนะนำไปนั้น หวังว่าจะช่วยจุดประกายเล็กๆ ให้กับหลายคนได้ไม่มากก็น้อย ที่อยากจะริเริ่มหันมาใส่ใจและอยากมีส่วนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่และแก้ไขยาก แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็เชื่อว่าจะสามารถลดความสูญเสียและนำเอาความงดงาม ของประเพณีกลับมาได้ โดยต้องเริ่มจากที่ตัวเราก่อนเป็นอันดับแรก

ที่มา : ฐาปน คำทา Team Content www.thaihealth.or.th

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รณรงค์โรคปอดบวม ทุก 20 วิมีเด็กเสียชีวิต 1 คน

หมอเด็กเผย ทั่วโลกมีเด็กเสียชีวิตจากโรคปอดบวม 1.5 ล้านคนต่อปี หรือทุก 1 คนต่อ 20 วินาที เร่งรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของโรคนี้ หากมีไข้สูงเกิน 3 วันรีบไปพบแพทย์ 
ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ที่ปรึกษาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถิติการเสียชีวิตของเด็กส่วนส่วนใหญ่ไม่ว่าเบื้องต้นเป็นโรคอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายจะเสียชีวิตจากโรคปอดบวมหรือไม่ก็เป็นโรคปอดบวมตั้งแต่แรกแล้วถึง 18% หรือจำนวน 1.5 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุกๆ 20 วินาที เฉพาะในประเทศไทยมีเด็กเสียชีวิตปีละประมาณ 2 แสนคน หรือคิดเป็นอัตรา 19 ต่อประชากรเด็ก 1 แสนคน
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาจากประเทศอินเดียพบว่า เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมมากกว่าเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวปกติถึง 25% แต่ผู้ปกครองสามารถป้องกันลูกได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำร่างกายให้แข็งแรง และการรับวัคซีนป้องกันโรคได้ แต่วัคซีนดังกล่าวยังไม่ได้ให้บริการอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่ในปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวเพียง 5% แสดงว่ายังมีคนที่เข้าไม่ถึงการป้องกันรักษาอีกเยอะมาก
“โรคปอดบวมส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว เพราะฉะนั้นหากลูกหลานเริ่มเป็นหวัดก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาการหวัดธรรมดาอาจจะกลายเป็นโรคปอดบวมหรือเสียชีวิตได้ หรือบางรายหากรักษาหายแล้วอาจจะทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตต่อไปในอนาคต” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าว และว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (Who) ได้ผลักดันให้โรคปอดบวมเป็นประเด็นสุขภาพระดับโลก และต้องการให้ทุกประเทศมีความรู้และตระหนักถึงการป้องกันโรคปอดบวมในเด็ก อย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 12 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันปอดบวมโลก
ด้าน รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าว ว่า โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อนิวโมค็อกคัส และเชื้อไวรัสเอ็นทีเอชไอ (NTHi) ที่มักจะเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง นอกจากนี้ เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนนำไปสู่การเสียชีวิต หรือในบางรายหากรักษาได้อาจจะก่อให้เกิดความพิการตามมาได้
“ปัจจุบันการรับวัคซีนไอกรน คอตีบ ก็สามารถป้องกันโรคปอดบวมได้ แต่ยังมีวัคซีนทางเลือกที่ป้องกันเชื้อไวรัสนิวโมค็อกคัสได้โดยตรง ซึ่งตรงนี้ผู้ปกครองต้องออกค่าใช้จ่ายเอง โดยวัคซีนดังกล่าวจะฉีดให้กับเด็กแรกเกิดในช่วง 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และช่วง 12-15 เดือน หรือถ้าในเด็กอายุเกิน 1 ปีขึ้นไปแล้วยังไม่ได้รับวัคซีน และยังไม่เคยเป็นโรคปอดบวมเลย จะได้รับวัคซีน 2 เข็ม” รศ.พญ.อัจฉรากล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ “ลูกครบ 32 สมองดี”

การเฝ้ามองทารกตัวน้อยๆ  ออกมาลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย คงเป็นภาพที่ พ่อ แม่ ผู้ให้กำเนิดอยากเห็นมากที่สุด แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับความยากลำบาก หรือ ความพิการแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ในสังคมต้องหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหา ป้องกันและให้การรักษาเพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) ร่วมมือกับ ชมรมเวชพันธุศาสตร์กุมารแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการครั้งที่ 4 ประจำปี 2555 เรื่อง โครงการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่ กำเนิดในประเทศไทย (National Forum on Birth Defects and Disabilities) ขึ้น เพื่อจัดระบบการคัดกรอง ป้องกัน รักษาและติดตามผลให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ. ธีรพล  โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอก ถึงแนวทางการป้องกันความพิการแต่กำเนิดว่า กรมอนามัยเน้นการป้องกันโรค เพื่อไม่ให้เกิด หรือเกิดน้อยที่สุด และเมื่อเกิดมาแล้ว ควรได้รับการแก้ไข หรือพัฒนาให้ดีขึ้น ให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามอัตภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลและคลินิกเกิดขึ้นทุก จุดของประเทศ เพื่อให้แนวทางและคำปรึกษาในการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์  ไม่ว่าในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถได้รับบริการได้อย่างทั่วถึง  ทั้งเรื่องโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สุขภาพทั่วๆ ไป หรือโภชนาการต่างๆ
นพ. ธีรพล บอกว่า อีกหนึ่งความท้าทายคือ การชี้นำให้สังคมตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญ โดยสร้างภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ  ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก อีกทั้งยังส่งเสริมบุคลากรในหน่วยงานที่มีส่วนร่วมให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อเกิดการแก้ปัญหา รักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน ศ.พญ. พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า โรคพิการแต่กำเนิดมีมากกว่า 7,000 โรค ปัจจุบันมีทารกพิการแต่กำเนิดทั่วโลกกว่า 8 ล้านคน ประเทศไทยมีทารกแรกเกิด 800,000 คน /ปี พบพิการแต่กำเนิด 3-5 % หรือ 24,000-40,000 คน/ปี ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการจดทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอ
นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการฯ บอกอีกว่า สาเหตุของโรค ส่วนใหญ่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง  50 % และอีก 50% เกิดจากสิ่งแวดล้อม สิ่งเสพติดต่างๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ของแม่ขณะตั้งครรภ์มีผลทำให้ น้ำหนักแรกเกิดของเด็กน้อย การดื่มเหล้าทำให้สมองเด็กไม่สมบูรณ์  นอกจากนี้ผู้หญิงในวัย 25-35 ปี เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ และต้องมีความรู้ความเข้าใจในการตั้งครรภ์ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการป้องกันการเกิดโรคอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์และเด็กได้รับอาหารเสริม วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ นั่นคือ โฟเลต ไอโอดีน และเหล็ก
ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้พูดถึงความสำคัญของโภชนาการกับการป้องกันความพิการแต่กำเนิดว่า ภาวะโภชนาการของผู้เป็นแม่นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โฟเลตมีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้าง DNA และเซลล์ต่างๆของร่างกายของลูกน้อย ให้เจริญเติบโต ส่วนไอโอดีนและธาตุเหล็กก็มีผลต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท เช่นกัน
พญ.นภาพรรณ บอกอีกว่า การขาดโฟเลตกับความพิการแต่กำเนิด สามารถป้องกันได้ถ้าแม่ได้รับโฟเลตเพียงพออย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กกับแม่แข็งแรง และเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดต่างๆ น้อยที่สุด ซึ่งผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับโฟเลต 400 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนผู้ชายในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนไอโอดีน ทารกแรกเกิด-5 ปี ควรได้รับ 90 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับอาหารที่มีโฟเลตพบมากในอาหารประเภทผักใบเขียวต่างๆ ผลไม้ อย่างพวก ถั่ว ส้ม มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ กล้วย ผักชี ประเภทเนื้อ เช่น ตับ เป็นต้น
“อีกสิ่งที่สำคัญและพิเศษที่สุด อีกอย่างหนึ่งคือ นมแม่ ภายในนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์และคุณค่ามากกว่านมชนิดไหนๆ เมื่อคลอดเด็กมาแล้ว ควรสร้างภูมิคุ้มและกันป้องกันให้เด็กตั้งแต่เริ่มแรก โดยให้เด็กทารกได้รับนมแม่ตั้งแต่เริ่มแรกจนหมดช่วงวัยด้วย” พญ.นภาพรรณบอกทิ้งท้าย

เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปวดท้อง...ลางบอกโรคร้าย

ปล่อยไว้อาจอันตรายถึงชีวิต!!

 
          ใคร ทีมักจะปวดท้องบ่อยๆ แต่ไม่ว่าปวดท้องเพราะอะไรอาจเป็นสัญญาณอันตรายโดยไม่รู้ตัว ถ้าปล่อยไว้เห็นทีจะไม่ดีแน่ ลองมาดูวิธีการเช็คโรคจากอาการปวดท้องเป็นเกร็ดความรู้กันสักหน่อยดีกว่า

          การ เช็คอาการปวดท้องโดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาจากตำแหน่งของอวัยวะและลักษณะของอาการปวดเพื่อประกอบการวินิจ ฉัย เช่น ปวดแบบเป็นๆ หายๆ ปวดหลังรับประทานอาหาร หรือหิวก็ปวด อิ่มก็ปวด เหล่านี้จะเป็นแนวทางช่วยให้ทราบอาการปวดท้องได้ "ตรงจุด" มากขึ้น

          หากปวดท้องด้านขวาตอนบน ความเจ็บปวดในบริเวณด้านขวาตอนบนของช่องท้องมันเกิด จากโรคตับและถุงน้ำดี หรือในบางครั้งโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ถุงน้ำดีก็อาจเกิดขึ้นบริเวณส่วนท้องน้อยก็เป็นได้ แต่ถ้าปวดท้องบริเวณแอ่งกระเพาะอาหาร คือ บริเวณที่อยู่ใต้ซี่โครงลงมา การเจ็บปวดบริเวณนี้มักเกิดจากการแสบกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบอาจเกิดขึ้นในบริเวณนี้ได้ เช่นเดียวกัน แต่หากมีอาการแสบกระเพาะอาหาร นั่นอาจเกิดจากกรดและอาการเจ็บปวดเนื่องจากแผลในกระเพาะ

          แต่ถ้าหากปวดท้องด้านขวาตอนล่างอาจเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบอย่างเฉียบพลัน หรืออาการอักเสบของลำไส้ ปวดท้องด้านซ้ายตอนบน อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ ที่เกิดในลำไส้ใหญ่ เช่น โรคท้องผูกหรืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ แต่ถ้าหากปวดท้องส่วนกลางส่วน ใหญ่มักเกิดจากสาเหตุที่มาจากโรคที่เกิดขึ้นที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้อาการปวดท้องที่บริเวณนี้อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งมักเริ่มที่บริเวณนี้ก่อนเสมอ แล้วจึงเลื่อนมาเป็นบริเวณท้องน้อย

          ปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง อาการปวดที่เป็นลักษณะปวดและคลายสลับกัน พร้อมกับอาการท้องร่วง หรือเกิดจากอาการท้องผูก อาจเกิดจากโรคถุงตันหรือที่เรียกกันว่าไส้ตันเป็นส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ อักเสบ (Diverticulitis)

          เท่า ที่กล่าวมาเป็นแค่ปราการป้องกันให้ตระหนักว่าอาการปวดท้องอาจเป็นสัญญาณ อันตรายของโรคร้ายได้ คำแนะนำดังกล่าวช่วยให้ตรวจดูอาการปวดท้องเบื้องต้นได้ว่าน่าจะเกิดจากอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฟันธงได้เลยว่าป่วยเป็นโรคอะไร

          ทาง ที่ดีต้องไปพบแพทย์เพื่อวิจัยฉัยอย่างละเอียด หากเกิดอาการปวดท้องขึ้นมาก็ให้บอกอาการปวดกับแพทย์ให้ตรงจุด ที่สำคัญอย่าไปหาซื้อยามารับประทานเองเชียว เพราะหากรักษาผิดจุดขึ้นมาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 7 โรคอันตรายในฤดูหนาว

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชน เรื่อง การป้องกันโรคที่เกิดในฤดู หนาว 7 โรค ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง พร้อมแนะนำวิธีการทำเสื้อกันหนาวจากถุง พลาสติกอย่างง่าย           
วันนี้ (31 ตุลาคม 2555)  นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว กรมควบคุมโรคจึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะจากสภาวะอากาศเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่าย ซึ่งโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวมี 7 โรค  ตามประกาศกรมควบคุมโรค  ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด  โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554) พบว่ามีรายงานผู้ป่วยทั้ง 7 โรค ดังนี้ มากสุดคือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 311,415 ราย รองลงมาโรคปอดบวม 46,174 ราย โรคไข้หวัดใหญ่ 10,621 ราย โรคสุกใส 8,884 ราย โรคมือ เท้า ปาก 4,114 ราย โรคหัด 1,110 ราย และโรคหัดเยอรมัน 129 ราย ตามลำดับ
สำหรับในช่วงฤดูหนาวปีนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคจากภัยหนาวส่งไปยังสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต พร้อมเตรียมภารกิจหลักในการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาว ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ประสบภัยหนาว 2.การควบคุมโรค ในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรคมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน โดยเน้นประชาชนใน 3 กลุ่มเสี่ยง คือ 1.กลุ่มเด็กที่มีอายุตํ่ากว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และ3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต และโรคโลหิตจาง เป็นต้น
นายแพทย์นพพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการป้องกันตนเองจากภัยหนาว ประชาชนต้องสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายเพื่อป้องกันโรค และหากอยู่ในพื้นที่อากาศเย็นลงอย่างต่อเนื่องหรืออุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ควรสวมเสื้อผ้าหนาหรือสวมเสื้อผ้าหลายๆชั้น สวมผ้าพันคอ หมวกและถุงเท้า การทำให้คออุ่นและหูอุ่นเป็นการเก็บอุณหภูมิในร่างกาย สำหรับในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนเสื้อกันหนาว สามารถนำถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่ใช้ใส่ของมาตัดก้นถุง และตัดด้านข้างทั้งสองข้างเพื่อใช้สวมศีรษะและเป็นแขนเสื้อได้ กลายเป็นเสื้อกันหนาวอย่างง่าย เนื่องจากคุณสมบัติของพลาสติก ช่วยกันลมและเก็บความร้อนจากร่างกายได้โดยจะต้องสวมอยู่ชั้นในระหว่างเสื้อ ผ้ากับเสื้อกันหนาวด้านนอก ที่สำคัญถุงพลาสติกต้องสะอาดและไม่เปียกน้ำ ซึ่งถุงต้องมีความหนาพอสมควร เพราะถ้าบางมากอาจขาดได้ง่าย
“หากประชาชนเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นายแพทย์นพพร กล่าวปิดท้าย

ที่มา : กระทรวงสาธารณะสุข

สธ.เตือน '3 โรค' ที่อาจติดมากับ 'เสื้อกันหนาวมือสอง'

ปลัด สธ.เตือนประชาชนระวัง "3 โรค" ที่อาจติดมากับ "เสื้อกันหนาวมือสอง" ทั้งกลากเกลื้อน, ภูมิแพ้ โรคติดต่อ และโรคผิวหนังจากพาหะนำโรค
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิด เผยว่า ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นลง โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อากาศเย็นลงเร็วกว่าทางภาคอื่น จึงขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ เรื่องที่ห่วงใยในฤดูหนาวนี้ประชาชนส่วนใหญ่มักซื้อหาเสื้อกันหนาวมาสวมใส่ โดยเฉพาะเสื้อกันหนาวมือสอง ซึ่งมีให้เลือกจำนวนมากและราคาถูก ทำให้เป็นที่นิยมซื้อกันมาก ซึ่งข้อมูลจากกรมศุลกากรในปี 2555 มีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือของอื่นที่ใช้แล้วระหว่างเดือน มกราคม-กันยายน 2555 จำนวน เกือบ 20 ล้านกิโลกรัม มูลค่านับพันล้านบาท
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่อาจติดมากับเสื้อกันหนาวมือสองอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สวมใส่ได้ หากไม่ทำความสะอาดเสียก่อน ซึ่งที่สำคัญมี 3 โรค ได้แก่ 1.โรคกลากเกลื้อน ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดงกลายเป็นผื่นแพ้ และมีอาการคัน 2.โรคภูมิแพ้ซึ่งเกิดได้หลายกรณี ทั้งจากฝุ่นใยผ้า และฝุ่นที่ติดตามกระสอบบรรจุระหว่างการขนส่ง หรือเกิดจากการแพ้น้ำยารีดผ้าเรียบที่ใช้รีดก่อนจำหน่าย น้ำยาที่มีความเข้มข้นสูง อาจระคายเคืองผิวหนังได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น และ 3.โรคติดต่อและโรคผิวหนังจากพาหะนำโรค อาจปะปนมากับเสื้อกันหนาวมือสอง ได้แก่ ตัวไร ตัวเรือด เห็บ หมัด และโลน ซึ่งมักชอบอาศัยอยู่ในใยผ้าที่สกปรก อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน ระคายเคืองและเป็นแผลได้
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มกินผักและผลไม้หลากสี เช่น ผักคะน้า ตำลึง ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก มะม่วงสุก ส้ม ฝรั่ง ลิ้นจี่ เป็นต้น เนื่องจากผักและผลไม้เหล่านี้จะมีวิตามินซีและเอ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น และบำรุงผิวพรรณ ให้ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที และกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ จะป้องกันโรคติดเชื้อจากอาหารและน้ำ และโรคทางเดินหายใจได้
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการเลือกซื้อและใช้เสื้อกันหนาวมือสอง กรณีของผู้ค้า ไม่ควรวางเสื้อผ้ากองกับพื้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีฝุ่นละอองและแมลงชนิดต่างๆ เข้าไปอาศัยในเสื้อผ้าได้ ส่วนประชาชนขณะที่เลือกซื้อควรสวมผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองที่มากับเสื้อผ้า เลือกเสื้อผ้าที่มีสภาพดี ตรวจสอบรอยด่างดำ รอยคราบสกปรก รวมไปถึงกลิ่นอับชื้น ควรหลีกเลี่ยงผ้าที่ทำจากหนังสัตว์ประเภทขนฟู เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ทั้งนี้ ก่อนใช้เสื้อกันหนาวมือสอง ขอให้นำมาซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้า และนำไปตากแดดจัดจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ หรือให้ซักแล้วนำมาต้มในน้ำเดือดหรือน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส นานประมาณ 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีอาการคันจากเชื้อราในร่มผ้าหลังใช้เสื้อกันหนาวมือสอง ไม่ควรแคะหรือแกะเกา หรือปล่อยไว้จนลุกลาม ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

รพ.เด็กชี้ ! ทารกไทยกินนมแม่ต่ำกว่าเกณฑ์

ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กฯ เผยหลังจากงานสัปดาห์นมแม่โลก พบร้อยละ 29 เด็กไทยกินนมแม่ต่ำกว่ามาตราฐานโลก จาก 177 ประเทศสมาชิก
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(โรงพยาบาลเด็ก)   เปิดเผยว่า จากข้อมูลพบว่าเด็กไทยที่กินนมแม่อย่างเดียวจนอายุ 6 เดือนมีเพียงร้อยละ 29 ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ต่ำมาก แม้ว่าปัจจุบันสังคมมีความเข้าใจเรื่องนมแม่มากขึ้น แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็อาจทำให้คุณแม่ให้นมลูกไม่สำเร็จ การทำความเข้าใจอดีตทั้งเรื่องที่มีการแยกแม่ลูกหลังคลอด ทำให้ลูกไม่ได้ดูดนมทันที ดังนั้น เราจึงต้องวางแผนเพื่ออนาคตว่าเราจะแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอย่างไร ให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างถูกวิธี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 65 ด้วย โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งโลกว่า ภายในค.ศ. 2025เด็กทั้งโลกซึ่งเกิดปีละประมาณ 136 .7 ล้านคนต้องได้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 50 ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 32.6 ข้อมูลของประเทศเรายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 29
ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวต่อไปว่า แม้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่มีการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วแต่ก็ ยังมีความท้าทายว่าในอนาคตระบบสาธารณสุขจะเข้ามาช่วยเหลือสร้างความรู้ความ เข้าใจให้บุคลากรและประชาชนอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่แม่ลาคลอดลูกได้ 90 วันโดยที่ยังได้รับเงินเดือน และอาจลาต่อได้อีก 60 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือนส่วนที่ลาต่อ หรือมีสิทธิลาพักงานเพื่อให้นมลูกได้วันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง สถานประกอบการต่างๆ สนับสนุนการให้นมแม่ด้วยการจัดมุมนมแม่ให้เป็นสัดส่วน ไปจนถึงมีหลักเกณฑ์ทางการตลาดห้ามโฆษณานมผงหรืออาหารสำหรับทารกแรกเกิดถึง 2 ปี ซึ่งทั้งหมดนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาสุขภาพของเด็กไทยเป็นปัญหาระดับชาติ และการสนับสนุนให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนอายุ 6 เดือน เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่องค์การอนามัยโลกยอมรับแล้วว่าได้ผล ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับสังคมไทยของเราแล้วว่าให้ความสำคัญอย่างจริงจังหรือไม่ เพื่ออนาคตของเด็กไทยของเรา

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ