วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

“อ้วนลงพุง” ไม่ใช่สิ่งดี

หลายคนอาจมองว่าเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น การมีรูปร่างท้วมหรือมีพุงซักนิด จะทำให้บุคลิกดีขึ้น ดูภูมิฐานมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือมาดอาเสี่ยนั่นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วอ้วนลงพุงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่กลับเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเป็นอันตรายต่อผู้ไว้พุงเป็นอย่างยิ่ง

          คนที่อ้วนลงพุงนั้นเกิดจากการไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมาก ยิ่งคุณอ้วนเท่าไรแสดงว่าไขมันยิ่งสะสมมากขึ้นเท่านั้น โดยไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่กระแสเลือด มีผลยับยั้งการออกฤทธิ์ของอินซูลินในร่างกาย ทำให้การเผาผลาญสารอาหารของร่างกายผิดปกติ เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น น้ำตาลในเลือดสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังที่ร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคมะเร็ง

          อ้วนลงพุงนั้นมองผิวเผินอาจฟังดูไม่น่ากลัวใครๆ ก็เป็น แต่ในความเป็นจริงรอบพุงที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ซม. จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า ซึ่งโรคเบาหวานนั้นถือว่าอันตรายกว่าโรคเอดส์เสียอีก เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 3.2 ล้านคนต่อปี ขณะที่เชื้อเอชไอวีฆ่าคนไปปีละประมาณ 3 ล้านคน เท่านั้นยังไม่พอการที่อ้วนหรือลงพุงยังทยอยตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะกล่าวว่า พุงยิ่งใหญ่เท่าไร ยิ่งตายเร็วเท่านั้น

          จากการสำรวจสภาวะสุขภาพของคนไทยพบว่า ตั้งแต่ปี 2534 มีประชากรน้ำหนักเกินอยู่ราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาในปี 2540 ขยับเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2543 ตัวเลขขึ้นมาถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุด 34.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2547 และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหากไม่มีการแก้ไข คนไทยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศคงมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ อัมพฤต อัมพาต โรคมะเร็ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

          การจะรู้ว่าตัวเองอ้วนหรืออ้วนลงพุงนั้นทำได้ไม่อยาก สามารถวัดได้เอง ซึ่งการวัดว่าอ้วนหรือไม่นั้นทำได้โดยการวัดดัชนีมวลกาย โดยใช้น้ำหนักที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วย ส่วนสูงที่เป็นเมตร 2 ครั้ง เช่นผู้มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ส่วนสูง 170 ซม. ก็ใช้น้ำหนักซึ่งก็คือ 70 หารด้วยส่วนสูงที่เป็นเมตรซึ่งก็คือ 1.7 เมตร 2 ครั้ง โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ 20.76 กิโลกรัมต่อ ตร.ม. หากดัชนีมวลกายมีค่าตั้งแต่ 23-24.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน แต่หากดัชนีมวลกายมีค่าตั้งแต่ 25 ขึ้นไปถือว่าอ้วน

          นอกจากนี้การวัดว่าอ้วนลงพุงหรือไม่นั้นก็สามารถทำได้โดยการวัดรอบพุงบริเวณตำแหน่งขอบบนของกระดูกสะโพก ซึ่งก็ตรงกับตำแหน่งที่เราท้าวสะเอว โดยวัดในขณะที่หายใจออก หากรรอบพุงตั้งแต่ 80 ซม.ขึ้นไปในผู้หญิง หรือตั้งแต่ 90 ซม.ขึ้นไปในผู้ชาย ก็ถือว่าอ้วนลงพุง

แล้ววันนี้ท่านตรวจร่างกายท่านเองแล้วหรือยัง ว่าท่านมีรูปร่างผิดปกติหรือไม่?