วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อากาศเย็นลงทุก 1 องศา เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน 2%

ปลัด สธ.เตือนภัยหนาวกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจ ความดันโลหิต และเบาหวาน หลังพบอากาศเย็นทำให้ภาวะเลือดหนืดขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ชี้อากาศเย็นลงทุก 1 องศาเซลเซียส เพิ่มโอกาสหัวใจวายเฉียบพลันได้ถึง 2% แนะ 7 วิธีการป้องกันดูแลร่างกายให้อบอุ่น
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นขึ้นของไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีความเหมาะสมต่อการระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคไข้หวัดนก นอกจากกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่สามารถป่วยได้ง่ายแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานต่ำ และพบว่า มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากภัยหนาวสูงกว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัว จึงได้สั่งการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว และดูแลเป็นกรณีพิเศษ
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องดูแลตนเองใน 3 เรื่องสำคัญ คือ อาหาร การออกกำลังกาย และกินยาควบคุมอาการ แต่เมื่อถึงฤดูหนาวจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะความชื้นในอากาศลดลง ผิวหนังจะแห้งและคัน เมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังอักเสบง่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมื่ออากาศเย็นลงจะมีปัญหาระบบการไหลเวียนเลือด ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่า อุณหภูมิที่ลดลงมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะเลือดมีความหนืดขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2 ดังนั้น ในช่วงหนาวนี้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นเป็นพิเศษอยู่เสมอ
นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังควรปฏิบัติตัวในช่วงฤดูหนาว ดังนี้ 1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่น โดยการสวมหมวก เสื้อคลุมกันหนาว ใส่ถุงมือถุงเท้า และรองเท้าที่ใส่สบาย หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ หรือขนสัตว์ เพราะจะระคายเคืองผิวหนัง ควรทาผิวด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์วันละหลายๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และเกิดอาการผิวแห้งคันตามมา ภายในบ้านควรดูแลให้อากาศถ่ายเทสะดวกและปิดหน้าต่างที่เป็นทางลมเข้า ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีคนแออัดการระบาย อากาศไม่ดี เพราะอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและหายยากกว่าคนปกติ
2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่รสไม่จัด หลีกเลี่ยงลูกอม ขนมหวาน และอาหารไขมันสูง เลือกอาหารประเภทต้ม ธัญพืช ผัก ผลไม้สดที่หวานน้อยซึ่งมีวิตามินแร่ธาตุสูง ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะไม่สามารถช่วยได้ และจะทำให้เกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจเสียชีวิตได้
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ควรเป็นการออกกำลังกายในร่ม เช่น เล่นโยคะ เต้นแอโรบิกขณะดูทีวี หรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่ไม่มีแดดจัดและไม่มีลมพัดแรง สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว หรือยืดเหยียดร่างกาย
4.หมั่นตรวจเช็คค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 5.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
6.คอยสังเกตอาการผิดปกติ และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่หันไปพึ่งพาอบายมุข บุหรี่ สุรา ไม่เครียด โดยปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ
 7.พักผ่อนให้เพียงพอ โดยสวมใส่ชุดนอนที่อบอุ่นและห่มผ้าหนาๆ จัดห้องนอนไม่ให้ลมผ่านมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนตอนกลางคืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ

พบผู้ป่วย 5 โรคเรื้อรัง สูงกว่า 11 ล้านคน สธ.เร่งหาวิธีป้องกัน

สธ. เผยประชาชนป่วย 5 โรคเรื้อรัง สูงกว่า 11 ล้านคน และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น  เร่งปรับพฤติกรรมผู้ป่วยในเรื่องการบริโภค เพิ่มการออกกำลังกาย ลดเครียด ลดการดื่มสุราและบุหรี่
น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ความสำคัญกับงานควบคุมป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพ ลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน โดยเฉพาะโรค 5 โรคไม่ติดต่อ ที่เกิดจากพฤติกรรมของบุคคลไม่เหมาะสม ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพอันดับแรกของประเทศ ข้อมูลในปี 2552 มีคนไทยป่วยจาก 5 โรคนี้ประมาณ 11 ล้านคน และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าหากคนไทยป่วยเป็นโรคดังกล่าว 18 ล้านคน ประเทศไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณค่ารักษาประมาณปีละ 335,359 ล้านบาท
“ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานในเรื่องการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย ลดเครียด ลดละการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% ของผู้ป่วย และรณรงค์ตรวจคัดกรองโรค ครอบคลุมประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 90% โดยให้ รพ.สต.ที่มี 9,750 แห่งทั่วประเทศ เป็นกำลังหลักร่วมกับ อสม.ในพื้นที่รวมประมาณ 1.2 ล้านคน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนให้มีอายุยืนได้ตามเป้าหมาย คือ 80 ปีในอีก 10 ปี ซึ่งขณะนี้ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยคือ 75.6 ปี ขณะเดียวกันจะเร่งยกมาตรฐานทางวิชาชีพ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีกว่า 70,000 คนทั่วประเทศ ประกอบด้วย นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงาน ทันตาภิบาล เจ้าพนักงานเภสัชกรรม และนักวิชาการสุขาภิบาล ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ใน รพ.สต. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/จังหวัด ศูนย์/กรมวิชาการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค และการรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยเสนอให้มีร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ” น.พ.ชลน่านกล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง                

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชวนพ่อเลิกบุหรี่วันพ่อแห่งชาติ

น.ส.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ศจย.และ สสส.สนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องการสัมผัสควันบุหรี่มือสองในบ้านของเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี ชุมชนช้างเผือก จ.นครราชสีมา ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 80 ครัวเรือน เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ของการสัมผัสควันบุหรี่มือสองกับการเจ็บป่วยด้วยโรค ระบบทางเดินหายใจ ช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.54) ที่ผ่านมา พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยด้วยโรคหวัด ร้อยละ 91.84 ป่วยโรคภูมิแพ้ ร้อยละ 8.16 โดยความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับการที่มีผู้สูบบุหรี่ภายในบ้าน ดังนั้น จำเป็นต้องมีโปรแกรมช่วยให้บ้านปลอดบุหรี่ และทำให้ตระหนักถึงภัยของควันบุหรี่มือสอง เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กเลิกบุหรี่ได้ ศจย.จึงอยากเชิญชวนพ่อเลิกบุหรี่ เริ่มต้นวันดีในวันพ่อแห่งชาติ
รศ.พญ.วนพร อนันตเสรี อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ เด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจได้บ่อยอยู่ แล้ว เช่น โรคหวัด หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบเป็นต้น ทั้งนี้ เพราะร่างกายยังอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ถ้าหากเด็กกลุ่มนี้สัมผัสควันบุหรี่ยิ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้มากขึ้น เนื่องจากควันบุหรี่ทำให้ทางเดินหายใจบวม เด็กเล็กที่มีการติดเชื้อระบบหายใจจะมีอาการของความเจ็บป่วยได้มากกว่าเด็ก โต เนื่องจากทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก กำจัดสิ่งคัดหลั่งได้ยาก ทำให้หลอดลมอุดตันได้ง่าย อาจเกิดอาการหอบเหนื่อย หรือได้ยินเสียงวี้ดได้ ในระยะยาวอาจเกิดอาการหอบซ้ำได้ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในการป้องกันเด็กจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เผย 6 หนทางรัก ดูแลสุขภาพพ่อ

กระทรวงวิทย์ฯ สนับสนุนคนไทยทำดีเพื่อพ่อ ทั้งพ่อบังเกิดเกล้า และพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย โดยในปีนี้ มอบหมายให้ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ แนะนำการแสดงกตเวทิตาของลูกในเรื่องการดูแลสุขภาพให้กับคุณพ่อของทุกคน
นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าว ว่า คนไทยโชคดีที่มีพ่อถึง 2 ท่าน ถือได้ว่าเป็นมงคลอันประเสริฐแห่งชีวิต และจะยิ่งเป็นมงคลขึ้นอย่างที่สุด ถ้าเราได้ดูแลพ่อของเราด้วยหัวใจ แสดงกตเวทิตาให้ท่านด้วยการดูแลจิตใจท่านในฐานะลูก คุณพ่อของเราที่บ้านท่านอาจเข้าวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็ขอให้หาโอกาสเข้า ไปดูเรื่องสุขภาพให้ท่าน สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้กับลูกทุกคนก็คือ อย่าผลัดเวลารัก ขออย่ารอเวลาบอกรักพ่อ ผลัดไปวันๆ หรืออายไปตลอดเวลาแล้วอ้างว่าไม่มีเวลาคุยกันสักที
“ในฐานะลูกคนหนึ่งจึงขอฝากสิ่งที่ลูกพอจะทำให้กับพ่อได้ เพื่อให้คุณพ่อได้ หนุ่มเสมอ และอยู่กับเรานานๆ สไตล์อายุรวัฒน์ อันดับแรก ให้พ่อเลี่ยงดื่ม อยากขอให้พ่อระวังตับเพราะมะเร็งตับเป็นผู้ร้ายอันดับต้นของผู้ชาย คุณพ่อที่ยังดื่มไวน์, เบียร์และเมรัยประเภทต่างๆ อยู่ขอให้ดูแลตับไว้ด้วยอาหารบำรุงตับง่ายๆ อย่าง ขมิ้นชัน, เห็ดหอม, เห็ดหลินจือ, หัวบีทรู้ท และบร็อคโคลี เป็นต้น สำหรับคุณพ่อที่ไม่ชอบกินผักก็ขอให้ลูกที่น่ารักหาวิตามินมาให้กินแทน อย่าง ซีลีมาริน หรือวิตามินน้ำมันบำรุงตับอื่นๆ”
นายแพทย์กฤษดา กล่าวต่อว่า ข้อต่อมาคือ คุณพ่อพอถึงวัยหนึ่งอาจมีทั้งต่อมลูกหมากโต, ความดันขึ้น, ไขมันสูงและเบาหวาน ดังนั้นการหายาให้คุณพ่อรับประทานเป็นเรื่องดี แต่ขอให้ลูกรักช่วยดูจำนวนของยาที่กินด้วยว่ามากเกินไปจนทำให้คุณพ่อตับพัง หรือเสี่ยงไตวายหรือไม่  หรือถ้าจะให้สมุนไพรคุณพ่อก็ขอให้พาคุณพ่อไปเจาะเลือดตรวจตับไว้ก่อนว่าแข็ง แรงแค่ไหน และถัดไปคือ พาพ่ออดบุหรี่ เพราะเป็นตัวที่บั่นทอนสุขภาพ และถ้าหากเลิกได้ท่านจะหนุ่มขึ้นอีกเยอะเลย
ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวต่อว่า วิธีลดพุงพ่อ เพราะคุณพ่อท่านทำงานมาเหนื่อยตลอดชีวิต พอถึงวัยหนึ่งก็จะเริ่มล้าไม่อยากออกกำลังกายประกอบกับความเครียด การมีพุงไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ถ้าหนักไปจะทำให้คุณพ่อเสี่ยงความดัน, มะเร็งและ “แก่ก่อนวัย” ดังนั้นอย่าให้คุณพ่อนอนดูทีวีเฉยๆ  ชวนท่านไปออกกำลังกายด้วยกันก็ดี ที่สำคัญไม่ต้องเครียดมาก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คุณพ่ออุ่นใจได้ก็คือ การที่ลูกอาจดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่ารักษาพยาบาลไปจนถึงมอบค่าใช้จ่ายไว้ให้ท่านใช้สอยด้วย  การเห็นลูกเลี้ยงเราได้นี่มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่สุดของคุณพ่อทุกคน
"สุดท้ายคือ อยากพาตรวจโรค ลูกที่ดีต้องเข้าใจสรีระของคุณพ่อด้วย เพราะมีบางโรคที่เกิดขึ้นตามวัยและบางทีคุณพ่อท่านอาจไม่อยากบอก ที่พบเจอบ่อยและขอแนะให้ตรวจคือ ต่อมลูกหมาก, ลำไส้และทางเดินอาหาร อาจพาคุณพ่อไปเจาะเลือดเพื่อตรวจ ต่อมลูกหมาก, สารบ่งชี้มะเร็งตับ, สารบ่งชี้มะเร็งลำไส้  และพาไปอัลตร้าซาวน์ดูช่องท้อง  นอกจากนั้นคุณพ่ออาจกำลังเผชิญภาวะ “กระดูกพรุน” ซึ่งคุณลูกสามารถพาไป “สแกนกระดูก” ได้สบายๆ ไม่เจ็บ"
ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติทิ้งท้ายว่า ทั้ง 6 ข้อนี้ ขอให้เป็นเสมือนจดหมายเปิดผนึกจากคุณลูกถึงคุณพ่อทุกท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงกตเวทิตาคุณอันเป็นคุณสมบัติของลูกผู้เจริญ  และที่สำคัญเหนือไปกว่านั้นก็คือเป็นการแสดงว่า “พ่ออยู่ในหัวใจลูกเสมอ” ไม่ว่าจะอายุเท่าไรหรือไม่ใช่ลูกเล็กๆ ของพ่อแล้วก็ตาม  แค่คำถามว่าปีนี้คุณพ่อได้ตรวจสุขภาพหรือยัง? ถ้ายังลูกจะได้พาไปตรวจ แค่นี้ก็ชื่นหัวใจคนเป็นพ่อไปถึงไหนๆ แล้ว สำหรับลูกที่ทำให้พ่อด้วยหัวใจนะครับจะได้รับความสุขใจอย่างล้นเหลือเข้ามา

ที่มา : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี