ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา มีการนำเสนอผลงานวิจัยของข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวนกว่า 800 ผลงาน โดย 1 ในผลงานที่น่าสนใจคือ ผลงานวิจัยเรื่อง "หมามุ่ย : สมุนไพรต่อความมั่นคงของชีวิตสมรส" ของนางชนัดดา บัลลังค์ นักวิชาการจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุ่งรวงทอง อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ
นางชนัดดา เปิดเผยว่า จากการศึกษาสมุนไพรหมามุ่ย โดยเปรียบเทียบผลของการใช้สมุนไพรหมามุ่ยต่อชีวิตสมรสกับชาวบ้านจำนวน 6,217 คน ใน ต.โพธิ์ อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยสมัครใจ จำนวน 40 คน เป็นชาย 20 คน และหญิง 20 คน ซึ่งก่อนการวิจัยให้ข้อมูลว่ามีความรู้สึกถึงความมั่นคงต่อชีวิตสมรสในระดับ ปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ในการทดลองได้ใช้เม็ดหมามุ่ยคั่วสุกบดละเอียดชงให้ดื่ม และสอบถามความรู้สึกหลังดื่มอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า ระดับความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างต่อชีวิตสมรสก่อนการใช้หมามุ่ยอยู่ในระดับ ปานกลาง แต่เมื่อได้ดื่มน้ำเม็ดหมามุ่ยคั่วบดละเอียดแล้ว ความรู้สึกต่อชีวิตสมรสเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับมาก
นางชนัดดากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มน้ำสมุนไพรหมามุ่ย พบว่ามีความพอใจคู่สมรส และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในผู้หญิงมีความรู้สึกว่าหน้าอกมีความเต่งตึง และอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการรับสัมผัสทางเพศมีความกระชับมากขึ้น การมีเพศสัมพันธ์ดี ไม่เหนื่อยง่าย
"ขณะที่เพศชายมีความรู้สึกว่าระหว่างปฏิบัติการไม่เหนื่อยง่าย แถมยังกระฉับกระเฉง จำนวนครั้งที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยได้เสนอแนะว่า การใช้หมามุ่ยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และผู้ใช้ต้องมีความรู้ทางด้านสมุนไพรเพื่อความปลอดภัย" นางชนัดดากล่าวและว่า งานวิจัยครั้งนี้มีสมมติฐานการวิจัยมาจากฐานข้อมูลของกรมการปกครองที่พบว่า สถิติการหย่าร้างของคนไทยตั้งแต่ปี 2550-2552 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 100,420 คน ในปี 2550 เพิ่มเป็น 109,277 คน ในปี 2552 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงคิดว่าควรจะมีแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มที่มีแนวโน้มหย่าร้าง หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ชีวิตคู่ ชีวิตสมรสให้มากขึ้น เพราะอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เพศสัมพันธ์มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตคู่ของมนุษย์มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นความต้องการพื้นฐานในความสุขทางเพศจะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่ เหมาะสมทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งเมื่อสภาพร่างกายที่มีอายุมากขึ้น การปลุกเร้าทางเพศต้องใช้เวลานานขึ้น และการแข็งตัวของอวัยวะเพศก็อาจแข็งตัวช้า
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น