วิธีดูแลตัวเองไข้เลือดออก สำคัญที่สุดคือช่วงไข้ลด
โดย tapana kamta | วันที่ 12 กรกฎาคม 2556
วันที่ 12 กรกฎาคม 56 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มี ความห่วงใยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว ซึ่งปัญหามีความรุนแรงมากกว่าเดิม จึงให้ความสำคัญกับโรคไข้เลือดออกเป็นลำดับต้น ซึ่งการควบคุมแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลดีที่สุด ต้องใช้ 2 มาตรการควบคู่กัน คือ 1.การดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดจุดตรวจคัดกรอง รักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นการเฉพาะในโรงพยาบาลทุกแห่ง และ 2.การลดจำนวนยุงลาย ตัวการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ซึ่งได้ผลดีมากถ้าทำจริงจังต่อเนื่องทุกๆ 7 วัน
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 กรกฎาคม 2556 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 67,889 ราย เสียชีวิต 71 ราย โดยมีผู้ป่วยสูงกว่าปีที่แล้ว 3.2 เท่า กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 28.91) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน (ร้อยละ 51.60) และกลุ่มอายุที่พบเสียชีวิตสูงสุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 28.17) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน (ร้อยละ 47.89) เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ปริมาณยุงลายเพิ่มมากขึ้น เกิดจากฝนตกบ่อย และจำนวนแหล่งเพาะพันธุ์ที่เป็นภาชนะมีมากขึ้นทุกวัน เช่น กล่องโฟม ยางรถเก่า จานรองกระถางต้นไม้ เป็นต้น
กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียนและประชาชน ร่วมมือกันทำ 5ป 1ข ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย และ 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งและ ทายากันยุง และการค้นหาผู้ป่วยโดยเร็ว เพราะหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างถูกต้อง จะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้
ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดอก ทำให้เสียชีวิตได้ หากละเลยต่อการรักษา จากข้อมูลพบว่ากลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นเด็กวัย รุ่นอายุ 15-24 ปีมากที่สุด ส่วนช่วงอายุในวัยเรียนรวมกันจะพบมากกว่าร้อยละ 60 แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันมีการระบาดในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะนักเรียนไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนการระบาดที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอดีตที่ผ่านมา
อาการหรือสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน อาเจียน เบื่ออาหาร กินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกในระยะแรกแล้ว มักให้ผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่บ้าน ซึ่งผู้ดูแลก็สามารถใช้วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ การเช็ดตัวให้ผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ และที่สำคัญต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ
โดยเฉพาะช่วงที่ไข้ลดลงประมาณวันที่ 3-4 ถ้าผู้ป่วยฟื้นไข้ สดชื่น วิ่งเล่นได้ แสดงว่าหายป่วย และปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกแล้ว แต่ถ้าพบว่าผู้ป่วยซึมลง อ่อนเพลียมาก กินและดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเน้นว่า สำหรับโรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาเฉพาะ เมื่อป่วยแล้วแพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งช่วงที่อันตรายของโรค คือ ช่วงที่ไข้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก ซึ่งหากรักษาไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 1 วันได้ และพบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เนื่องมาจากมาพบแพทย์ช้าเกินไปในช่วง ที่ไข้ลดแล้วช็อกนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อป่วยเป็นไข้สูงเกิน 2 วัน อย่านิ่งนอนใจรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
link http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/35528