ย่ำ 'น้ำขัง' เสี่ยงโรค
โดย pimchanok | วันที่ 3 ตุลาคม 2556
น.พ.จิโรจน์ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง แนะ การใส่ใจดูแลและทำความสะอาดเท้าหลังจากการลุยน้ำขัง คือการลุยน้ำแบบน้ำไม่สกปรกมาก บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่าอันตราย แต่ที่ควรจะต้องตระหนักยังมีปัญหาเรื่องความชื้นที่ทำให้เท้าเปื่อย อย่างบริเวณง่ามเท้าฉีก เปื่อย ยุ่ย และเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผิวหนังอ่อนแอและขาดความสามารถในการป้องกันเชื้อ โรค ซึ่งเมื่อเชื้อราเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคัน ผิวหนังลอก หรือเป็นกลาก แต่หากเป็นแบคทีเรียจะทำให้เป็นตุ่มหนองได้ หรืออาจจะลุกลามเป็น "ไฟลามทุ่ง" ติดเชื้อลามในชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้ต่อมน้ำเหลือง "ลูกหนู" อักเสบและบวมได้
ส่วนการย่ำน้ำที่สกปรกมากๆ มีเศษขยะ สารเคมี ความสกปรกทั้งหลายละลายปนน้ำแล้วขังอยู่ในแอ่ง รวมถึงน้ำในท่อระบายน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคนับไม่ถ้วนที่เอ่อขึ้นมาบนถนน น้ำชนิดนี้ค่อนข้างมีอันตรายที่ตาเปล่ามองไม่เห็น เพราะไม่จำเป็นต้องมีแผลแต่ไวรัส เชื้อโรค และพยาธิบางชนิดสามารถไชผ่านผิวหนังได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยรอยแผลใดๆ บนผิวหนัง
นอกจากนี้ยังมีโรคฉี่หนู ที่เป็นแล้วถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงเศษแก้วหรือเศษโลหะที่อยู่ในแอ่งน้ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยเส้นเลือดตีบและเบาหวาน เพราะเป็นแผลง่ายและหายยาก โอกาสติดเชื้อมีสูง อาจจะรุนแรงถึงขั้นต้องตัดเท้า
ส่วนประชาชนทั่วไปหากจำเป็นต้องเดินผ่านประจำ ควรมีบูทยางสลับเปลี่ยนเมื่อต้องลุยน้ำ หากหาไม่ได้อย่างน้อยใช้ถุงพลาสติกสวมเท้าก็พอกันได้ แต่พอผ่านมาได้แล้วต้องรีบล้างเท้า ถ้าเป็นน้ำไม่สกปรกนัก ล้างให้สะอาด ฟอกสบู่ก็พอ แต่ถ้าน้ำสกปรกมากควรใช้สบู่ฆ่าเชื้อหรือเช็ดซ้ำด้วยแอลกอฮอล์
การล้างควรเน้นพื้นที่ซอกนิ้วร่องนิ้ว และง่ามนิ้ว ซึ่งเป็นจุดอับที่มักจะล้างไม่ทั่วถึง และเมื่อล้างเสร็จต้องเช็ดให้แห้ง โดยใส่ใจจุดอับช่วงง่ามนิ้วเป็นพิเศษ
หน้าฝนแบบนี้ถ้าทำได้ให้ใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าพลาสติก และควรมีรองเท้าถุงเท้าสำรองติดรถ ติดออฟฟิศ หรือถ้าติดกระเป๋าไว้บ้างก็ดี เพราะล้างเท้า เช็ดเท้าแล้ว ก็ไม่ควรจะไปใส่รองเท้าหรือถุงเท้าชื้นๆ และสกปรกอีก
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง Link http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/36824