วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กิน‘ส้มตำปูปลาร้า‘ หน้าร้อนต้องระวัง

โดย 
‘ส้มตำปูปลาร้า‘ กับเชื้อก่อโรค thaihealth
ส้มตำ อาหารไทยยอดนิยมที่ติด 1 ใน 50 ของอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกจากการสำรวจของเว็บไซต์ CNN go เมื่อปี 2554 ทำให้วันนี้ส้มตำเป็นเมนูที่ชาวต่างชาตินิยมรับประทานอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อาจเพราะปัจจุบันพ่อค้าหันมาปรับรสชาติ และเพิ่มส่วนประกอบให้ทานง่ายขึ้น เช่น ส้มตำไข่เค็ม ส้มตำหมูย่าง ส้มตำไก่ย่าง เป็นต้น
แต่ก็ยังไม่สามารถแทนที่ส้มตำดั้งเดิมที่มีแค่ปู-ปลาร้าได้ ซึ่งจะอร่อยหรือไม่ขึ้นอยู่กับส่วนผสมและวัตถุดิบที่ใส่อย่างปูและปลาร้า ปลาร้าที่มีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม ไม่เค็มเกินไป นำมาปรุงรสที่เป็นเคล็ดลับของแต่ละร้าน ต้มจนสุกจะได้น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ
ที่สำคัญ ต้องเป็นน้ำปลาร้าที่สะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่อาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบที่ต้องสัมผัสกับมือผู้ปรุง ผู้ขาย ทั้งวัตถุดิบหลัก มะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ และผักที่เป็นเครื่องเคียง เช่น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี
อาหารที่ต้องสัมผัสกับมือคนโดยไม่ผ่านความร้อนก่อนรับประทาน ต้องระวัง เพราะสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เป็นเชื้อที่สามารถสร้างสารพิษที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนความร้อน
ฉะนั้น ผู้ที่ชื่นชอบส้มตำต้องระวังอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนเลยยกเว้นปลาร้าต้มสุก ถ้าร้านไหนไม่มีการต้มน้ำปลาร้าก็ให้หลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นอาจต้องล้มหมอนนอนเสื่อกับโรคอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ในรายที่รุนแรงอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
สถาบันอาหาร ได้ทำการสุ่มตัวอย่าง ส้มตำปู-ปลาร้า เพื่อวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าว ผลปรากฏว่ามี 1 ตัวอย่าง ที่พบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อน แต่ปริมาณที่พบยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กำหนดให้อาหารพร้อมบริโภคพบเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 100 ซีเอฟยู/กรัม
ขอแนะว่าหน้าร้อนอย่างนี้ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท เลือกซื้อส้มตำจากร้านที่มั่นใจในเรื่องความสะอาด และใช้ปลาร้าต้มสุกจะดีกว่า


ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต