นายอินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารประเภทไส้กรอกได้รับความนิยมสูง เพราะรับประทานง่าย และราคาไม่แพงนัก อย่างไรก็ตาม มักจะมีคำถามมากมายในเรื่องการรับประทานไส้กรอกว่า มีส่วนผสมอะไรบ้าง รับประทานแล้วปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่ และควรเลือกรับประทานไส้กรอกชนิดใดจึงจะปลอดภัย
ซึ่งจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในประเทศไทยพบว่า จุดแรกของการเลือกซื้อไส้กรอกมารับประทาน จะต้องดูจากบรรจุภัณฑ์ว่าได้รับมาตรฐานความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ ที่สำคัญต้องระมัดระวังไส้กรอกที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด โดยเฉพาะไส้กรอกที่ตวงขายตามน้ำหนัก เพราะไม่มีฉลากบอกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ควรเลือกซื้อไส้กรอกที่บรรจุถุง หรือในบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากบอกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์และการรับรองจาก อย.
นายอินทาวุธกล่าวอีกว่า สำหรับส่วนประกอบของไส้กรอกที่มีข้อกังวลว่า จะส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างสารไนเตรทและไนไตรท์ ซึ่งจะทำให้ไส้กรอกมีสีชมพู มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะ รวมทั้งยังช่วยป้องกันการเติบโตของจุลินทรีย์ ที่จะสร้างสารโบทูลินัม ทอกซิน หรือที่เรียกกันว่าโบท็อกซ์ ถ้าผู้บริโภครับประทานในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้อวัยวะภายในเกิดอัมพาตชั่วคราวได้
ดังนั้น การเลือกซื้อไส้กรอกผู้บริโภคควรสังเกตจากสีของไส้กรอก โดยเลือกสีที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ขณะที่บรรจุภัณฑ์ต้องปิดมิดชิด มีเครื่องหมาย อย. วันหมดอายุอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขมีกฎหมายควบคุมการเติมสารกลุ่มไนเตรทและไนไตรท์ในปริมาณเล็กน้อย เพียงพอที่จะป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าว หากเลือกซื้อไส้กรอกที่ได้มาตรฐานก็จะสร้างความมั่นใจได้ว่า ปลอดภัยในการบริโภค
ผู้สื่อข่าวถามว่า เด็กคนที่อยู่ระหว่างลดน้ำหนัก และผู้ป่วยควรบริโภคไส้กรอกหรือไม่ นายอินทาวุธกล่าวว่า ไส้กรอกคือ อาหารโปรตีนชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบ คือ เกลือ ไขมัน ซึ่งเด็กรับประทานได้ แต่หลักการรับประทานอาหารต้องไม่ทานอาหารชนิดเดียวกันซ้ำกันนานเกินไป ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการลดน้ำหนัก ต้องพิจารณาจากปริมาณพลังงานจากอาหาร แต่ละอย่างที่รับประทานแต่ละวัน เช่น หากรับประทานไส้กรอกแล้ว ยังรับประทานข้าว หรือแป้งชนิดอื่นๆ เข้าไปอีก ก็อาจน้ำหนักขึ้นได้ ส่วนผู้ป่วยขึ้นอยู่กับป่วยเป็นโรคอะไร และแพทย์ให้จำกัดอาหารชนิดใดเป็นต้น