อันตรายจากการนอนไม่หลับ
แฟ้มภาพ
คนเราเมื่อได้เวลานอน หัวถึงหมอน ภายใน 30 นาที เราจะเข้าสู่ภวังค์ของการนอนหลับ แต่ถ้าใครต้องใช้เวลากว่าจะหลับบนเตียงนอนมากกว่า 30 นาที ขึ้นไป บ่อยครั้ง ถี่ เกินกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ จะถือว่าผิดปกติ เข้าข่ายที่หมอจะวินิจฉัยได้ว่าเป็น โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia
จากการรวบรวมสถิติโดย รศ.นพ.จักร กฤษณ์ สุขยิ่ง ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับถึง 1 ใน 3 โดยผู้สูงอายุจะมีปัญหานี้เพิ่มขึ้น ตามวัยที่มากขึ้น บางคนใช้เวลานานกว่าจะหลับ บางคนตื่นขึ้นมากลางดึก แล้วไม่สามารถหลับต่ออีกได้ บางคนตื่นเช้าเกินไป ตื่นมาตั้งแต่ ตี 3 ตี 4 แล้วไม่กลับไปนอนต่อ
คนที่นอนไม่หลับ แล้วหลับไม่พอเหล่านี้ ตื่นขึ้นมาจะไม่สดใส รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วง หมดเรี่ยวแรง ไม่มีพละกำลัง เวลาคิดอะไร มักจะคิดไม่ออก ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ฉุนเฉียว หาเรื่องทะเลาะกับคนรอบข้าง ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ ตัดสินปัญหาเฉพาะหน้าไม่เหมาะสม สร้างปัญหาให้กับครอบครัว คนรอบข้าง และ ที่ทำงาน บางคนพอถึงเวลานอน ก็จะกังวลมาก กลัวว่าเข้านอน หัวถึงหมอนแล้วแต่ตาค้าง นอนไม่หลับ อิจฉาคนข้างเคียงว่าหลับสบาย แต่ตัวเองกลับไม่หลับ กลายเป็นโรควิตกจริต ไม่กล้าเข้านอนไปเลยก็มี
ถ้าโชคดี มีปัญหานอนไม่หลับในระยะเวลาสั้นๆ คือน้อยกว่า 3 เดือน มักจะเกิดจากความตื่นเต้น ความเครียด เช่น เปลี่ยนงาน เครียดเตรียมตัวสอบ เป็นต้น เมื่อสถานการณ์ นั้นๆ ลดความตึงเครียดลง ก็มักจะกลับมานอนได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นมานาน ทางแพทย์ให้มากกว่า 3 เดือน ถือว่าเป็นโรคนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง อาจเกิดจากโรคทางกาย เช่น เป็นหวัดภูมิแพ้ กรดไหลย้อน ข้ออักเสบ พาร์กินสัน ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกระดูก ขา กระตุก ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นต้น และอาจเกิดจากโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ยิ่งทำให้โรคนอนไม่หลับรุนแรงมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ช่วงแรกๆ จะทำให้รู้สึกว่าหลับง่ายขึ้น แต่พอหลับไปกลางดึกสมองกลับตื่นตัวมากขึ้น อาจตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่หลับต่อ การดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน จะไปกระตุ้นสมองทำให้นอนไม่หลับเช่นเดียวกัน
อีกอย่างคือการกินอาหารจนแน่นท้อง โดยเฉพาะมื้อเย็น หรือมื้อค่ำ ทำให้อึดอัด มีกรดไหลย้อน ยิ่งเป็นอาหารรสจัดด้วย จะทำให้รู้สึกแสบท้อง แล้วนอนไม่หลับ
โดยทั่วไป ถ้าเรามีอาการเข้าข่ายของโรคนอนไม่หลับ ให้มองรอบๆ ตัวเอง แล้วคิดวิเคราะห์ก่อนว่าสาเหตุของโรคนอนไม่หลับของเรานั้นเกิดจากอะไร ให้แก้ที่สาเหตุที่เกี่ยวข้องก่อน พร้อมกันนี้ให้ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี ของการนอนหลับ (Sleep Hygiene) 5 ข้อ ที่สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมไว้ โดยดัดแปลงจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเรื่องการหลับในสหรัฐฯ ดังนี้
1. เข้านอน ตื่นเช้า ให้เป็นเวลา
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ ห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
3. ห้องนอนควรมืด เงียบ อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการถ่ายเทอากาศได้ดี
4. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
5. ไม่ควรดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารในห้องนอน
เพียง 5 ข้อแค่นี้ ถ้าทำได้ ท่านจะนอนหลับได้สนิท เพื่อชีวิตเป็นสุขและเพื่อ..สุขภาพที่แข็งแรง