“ไวรัสตับอักเสบบี” รู้ก่อนปลอดภัย
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“โรคไวรัสตับอักเสบบี” หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ยิ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลชวนน่าตกใจว่า คนไทยติดเชื้อมากถึง 4 ล้านคน แล้วโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีอันตรายหรือไม่ วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส.มีคำตอบมาฝากกัน
โรคตับอักเสบบีคืออะไร
ไวรัสตับอักเสบบี คือ โรคตับอักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดบี แต่ถ้าหากเกิดจากเชื้อไวรัสตัวอื่น ๆ เช่น ไวรัสชนิดเอ ไวรัสชนิดซี ก็จะเรียกชื่อต่างๆ กันไป แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ไวรัสตับอักเสบบี เป็นตัวที่อันตรายและรุนแรงมากที่สุด เพราะเชื้อไวรัสจะซ่อนตัวอยู่ในคน ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งตับ
การติดต่อของโรค
เชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้จะพบในเลือดมากที่สุด รองลงมาพบในน้ำลาย น้ำตา น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด น้ำดีและน้ำนมของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ
การติดต่อของโรคนี้มี 4 ทาง คือ
1. ติดต่อทางเลือด โดยได้รับเชื้อจากการได้รับเลือดจากผู้ที่เป็นโรคนี้ แต่ปัจจุบันเราพบการติดต่อทางนี้น้อยลง เพราะมีการตรวจเลือดก่อนที่จะนำมาให้คนไข้
2. ติดต่อทางน้ำลาย การรับประทานอาหารร่วมกับคนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสจะติดต่อกันได้ง่าย เพราะการรับประทานอาหารของคนไทยมักจะลืมใช้ช้อนกลาง ทำให้มีโอกาสติดโรคนี้ได้ง่าย
3. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไวรัสตับอักเสบบี จึงจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งเช่นเดียวกับโรคเอดส์ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้ จึงมีโอกาสติดโรคไปด้วย
4. ติดต่อจากแม่สู่ลูก การติดต่อนี้จะมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อได้ในระหว่างคลอด จึงควรมีการตรวจเลือดมารดาในตอนที่ฝากครรภ์ ถ้าพบว่ามารดามีเชื้อโรคนี้อยู่ ควรฉีดวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้
อาการของโรค
ผู้ป่วยโรคตับอักเสบจะมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดบริเวณชายโครงขวา ซึ่งโรคนี้รักษาไม่หายขาด แต่สามารถกินยาควบคุมเชื้อไวรัส และสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือผู้ป่วยมักจะเป็นพาหะนำโรคแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ โดยไม่มีอาการป่วยแสดงออกมา
โรคนี้มีอันตรายขนาดไหน
โรคไวรัสตับอักเสบบี เมื่อเป็นการอักเสบเฉียบพลัน มักไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็ก โรคอาจรุนแรง เซลล์ตับอาจถูกทำลายมากจนเกิดตับวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้ แต่ในโรคอักเสบเรื้อรังจัดเป็นโรครุนแรง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ ซึ่งมีความรุนแรงสูง
มียารักษาหรือไม่
ปัจจุบันโรคไวรัสตับอักเสบบี มียารักษาที่ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในอนาคตได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
วิธีการป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติและการป้องกันจาก “นายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข” อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับต่างเพศหรือรักร่วมเพศ ช่วยให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด
2. ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
3. ไม่สัก ฝังเข็ม หรือเจาะ โดยใช้เข็มหรือหมึกร่วมกัน
3. ไม่ใช้แปรงสีฟันและใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ
4. ยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบจะตายที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส
5. ขับถ่ายอุจจาระลงส้วม ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ ไม่แพร่กระจายเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม
6. ฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง และควรฉีดเมื่ออายุยังน้อยๆ เพื่อป้องกันก่อนได้รับเชื้อ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด
7. งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารพิษในบุหรี่และแอลกอฮอล์ จะไปทำลายเซลล์ตับโดยตรง
คำแนะนำเหล่านี้หากปฏิบัติได้ จะช่วยลดความเสี่ยงของโรค ที่สำคัญต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยสามารถใช้เทคนิคง่ายๆ จาก สสส.แค่แกว่งแขนวันละ 30 นาที ลดพุงลดโรค เพียงเท่านี้ไวรัสตับอักเสบบี ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป