วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ฮ่องกงหนุนออกกำลังกายในที่ทำงาน

บริษัท อีตัน (eaton corporation) เป็นบริษัทข้ามชาติที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงาน ได้ริเริ่มแพ็คเกจการประกันสุขภาพ 2 อย่างแจกให้กับพนักงานตั้งแต่ปลายปี 2555
แบบแรกคือ แพ็คเกจสุขภาพมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกลง (ราว 40,360 บาท) ต่อปี โดยที่อีกแบบมีมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ บวกกับอีก 5,000 ดอลลาร์ในแบบเครดิต เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของยิมหรือใช้ในการท่องเที่ยว เพราะเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อสนับสนุนลูกจ้างและพนักงานกว่า 100 ชีวิต มีไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ
โดย eric kung ping-yin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ human dynamic ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสุขภาพนานาชาติ กล่าวว่า บริษัทท้องถิ่นหลายแห่งกำลังใช้วิธีการทำงานเชิงรุก เพื่อส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน และเห็นว่า “บริษัทต่างๆ ควรจะลงทุนในโครงการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานดูแลสุขภาพ แทนที่จะต้องเผชิญกับต้นทุนที่เกิดจากภาวะสุขภาพย่ำแย่ของพนักงานในอนาคต”
โครงการ ‘รู้ดัชนีมวลกายของคุณ’ (know your numbers) โด่งดังไปทั่วในภาคเอกชน ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงสถานะสุขภาพของพนักงาน แทนที่จะเป็นตัวเลขยอดขาย บริษัทต่างๆ กำลังสนับสนุนให้พนักงานของตนเข้าสู่การทดสอบร่างกายพื้นฐาน เพื่อให้มีการจัดเก็บประวัติสุขภาพของกำลังคน การประเมินผลความเสี่ยงด้านสุขภาพถูกสร้างขึ้นมา เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไลฟ์ไตล์ของพนักงาน เช่น สูบบุหรี่วันละกี่มวน พฤติกรรมการกินอาหาร และที่มาของความเครียด
ตัวอย่างโครงการที่จูงใจให้พนักงานเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อสุขภาพ เช่น เมื่อปีที่แล้วมีการเปิดตัวการแข่งขันลดน้ำหนักระหว่างแผนก มีจำนวนพนักงานราว 180 เข้าร่วมโครงการ และลดขนาดรอบเอว นอกจากนี้ ยังมีการจับรางวัลประจำเดือน เพื่อกระตุ้นให้พนักงานเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ยิ่งเดินและใช้บันไดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสในการจับรางวัลมากเท่านั้น
อีกแนวทางหนึ่งคือการใช้แรงจูงใจด้านลบ เช่น ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อย่างมิชลิน ออกกฎว่าพนักงานต้องจ่ายเงินราว 7, 888 ดอลลาร์ฮ่องกงเพิ่มเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมประกันชีวิต หากมีรอบเอวมากกว่า 101.6 เซนติเมตร สำหรับผู้ชาย และ 88.6 เซนติเมตร สำหรับผู้หญิง ตัวอย่างอื่นๆ เช่น  ห้างสรรพสินค้า macy ปรับพนักงานที่สูบบุหรี่เป็นเงิน 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หากพวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการเลิกสูบบุหรี่
ทางด้าน aon hewitt ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ว่าจ้างทั้งขนาดกลางและใหญ่ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ 79 ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ มีการสร้างแรงจูงใจในรูปแบบเงินสด เพื่อกระตุ้นให้พนักงานเข้าร่วมการตรวจสุขภาพหรือโปรแกรมฟิตเนส ร้อยละ 58 มีแผนที่จะปรับเงินพนักงานที่มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และร้อยละ 5 ได้มีการนำเอามาตรการลงโทษนี้มาใช้แล้ว
องค์กรสาธารณกุศลในฮ่องกงอย่าง lok sin tong ได้เปิดตัวโปรแกรมเลิกสูบบุหรี่ที่เข้าถึงประชาชน ด้วยเงินทุนราว 4.5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากการสนับสนุนของสำนักงานควบคุมยาสูบ โดยทำการส่งเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาไปยังบริษัทต่างๆ เพื่อจัดให้ความช่วยเหลือในเรื่อง การสรรสร้างนโยบายต่างๆ เพื่อ สนับสนุนให้พนักงานลูกจ้างหยุดสูบบุหรี่ จนถึงปัจจุบันมีบริษัทท้องถิ่น 65 แห่งที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้
บางบริษัท เสนอรางวัลในรูปของเงินสด หรือเวลาพักร้อนที่ไม่ต้องโดนหักเงิน เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้  ส่วนบริษัทอื่น ๆ มีโปรแกรมเพื่อนช่วยเพื่อน (buddy programme) ที่จับคู่คนสูบบุหรี่กับคนไม่สูบบุหรี่ เข้าร่วมการรับคำปรึกษาพร้อมกันกับเพื่อนที่สูบบุหรี่ด้วย ครึ่งหนึ่งของบริษัทที่เข้าร่วมมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ งานขาย และ งานทำความสะอาด ซึ่งมีแนวโน้มที่มีพนักงานหลาย ๆ คนต้องทำงานกับสาธารณะ
ทั้งนี้ โฆษกของ lok sin tong กล่าวว่า “จากการทำโปรแกรมนี้ ปรากฏว่าบรรดาผู้ว่าจ้างสามารถมีอิทธิพลต่อพนักงานลูกจ้างมากกกว่าครอบครัวของพวกเขาเสียอีก เพราะว่าพนักงานลูกจ้างใส่ใจในสิ่งที่นายจ้างคิดเกี่ยวกับพวกเขา”

ที่มา : http://www.scmp.com/lifestyle/health/article/1321402/action-stations-office-fitness-initiatives-take-root-hong-kong

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น