การเฝ้ามองทารกตัวน้อยๆ
ออกมาลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย คงเป็นภาพที่ พ่อ แม่
ผู้ให้กำเนิดอยากเห็นมากที่สุด
แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับความยากลำบาก หรือ
ความพิการแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ในสังคมต้องหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหา
ป้องกันและให้การรักษาเพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) ร่วมมือกับ
ชมรมเวชพันธุศาสตร์กุมารแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จัดประชุมวิชาการครั้งที่ 4 ประจำปี 2555 เรื่อง
โครงการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่
กำเนิดในประเทศไทย (National Forum on Birth Defects and Disabilities)
ขึ้น เพื่อจัดระบบการคัดกรอง ป้องกัน
รักษาและติดตามผลให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ. ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอก
ถึงแนวทางการป้องกันความพิการแต่กำเนิดว่า กรมอนามัยเน้นการป้องกันโรค
เพื่อไม่ให้เกิด หรือเกิดน้อยที่สุด และเมื่อเกิดมาแล้ว ควรได้รับการแก้ไข
หรือพัฒนาให้ดีขึ้น ให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามอัตภาพที่ควรจะเป็น
ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลและคลินิกเกิดขึ้นทุก
จุดของประเทศ
เพื่อให้แนวทางและคำปรึกษาในการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์
ไม่ว่าในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถได้รับบริการได้อย่างทั่วถึง
ทั้งเรื่องโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สุขภาพทั่วๆ ไป หรือโภชนาการต่างๆ
นพ. ธีรพล บอกว่า อีกหนึ่งความท้าทายคือ
การชี้นำให้สังคมตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญ โดยสร้างภาคีเครือข่าย
ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ
ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก
อีกทั้งยังส่งเสริมบุคลากรในหน่วยงานที่มีส่วนร่วมให้มีความรู้
ความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อเกิดการแก้ปัญหา
รักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน ศ.พญ. พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย)
ให้ข้อมูลว่า โรคพิการแต่กำเนิดมีมากกว่า 7,000 โรค
ปัจจุบันมีทารกพิการแต่กำเนิดทั่วโลกกว่า 8 ล้านคน ประเทศไทยมีทารกแรกเกิด
800,000 คน /ปี พบพิการแต่กำเนิด 3-5 % หรือ 24,000-40,000 คน/ปี
ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการจดทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
เพียงพอ
นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการฯ บอกอีกว่า สาเหตุของโรค
ส่วนใหญ่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง 50 % และอีก 50%
เกิดจากสิ่งแวดล้อม สิ่งเสพติดต่างๆ
ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ของแม่ขณะตั้งครรภ์มีผลทำให้
น้ำหนักแรกเกิดของเด็กน้อย การดื่มเหล้าทำให้สมองเด็กไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ผู้หญิงในวัย 25-35 ปี เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์
และต้องมีความรู้ความเข้าใจในการตั้งครรภ์
ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการป้องกันการเกิดโรคอย่างจริงจัง
มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์และเด็กได้รับอาหารเสริม วิตามิน
แร่ธาตุที่สำคัญ นั่นคือ โฟเลต ไอโอดีน และเหล็ก
ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย
ได้พูดถึงความสำคัญของโภชนาการกับการป้องกันความพิการแต่กำเนิดว่า
ภาวะโภชนาการของผู้เป็นแม่นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
โฟเลตมีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้าง DNA
และเซลล์ต่างๆของร่างกายของลูกน้อย
ให้เจริญเติบโต ส่วนไอโอดีนและธาตุเหล็กก็มีผลต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท
เช่นกัน
พญ.นภาพรรณ บอกอีกว่า การขาดโฟเลตกับความพิการแต่กำเนิด
สามารถป้องกันได้ถ้าแม่ได้รับโฟเลตเพียงพออย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์
เพื่อให้เด็กกับแม่แข็งแรง และเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดต่างๆ น้อยที่สุด
ซึ่งผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับโฟเลต 400 ไมโครกรัมต่อวัน
ส่วนผู้ชายในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนไอโอดีน
ทารกแรกเกิด-5 ปี ควรได้รับ 90 ไมโครกรัมต่อวัน
สำหรับอาหารที่มีโฟเลตพบมากในอาหารประเภทผักใบเขียวต่างๆ ผลไม้ อย่างพวก
ถั่ว ส้ม มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ กล้วย ผักชี ประเภทเนื้อ เช่น ตับ เป็นต้น
“อีกสิ่งที่สำคัญและพิเศษที่สุด
อีกอย่างหนึ่งคือ นมแม่
ภายในนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์และคุณค่ามากกว่านมชนิดไหนๆ
เมื่อคลอดเด็กมาแล้ว ควรสร้างภูมิคุ้มและกันป้องกันให้เด็กตั้งแต่เริ่มแรก
โดยให้เด็กทารกได้รับนมแม่ตั้งแต่เริ่มแรกจนหมดช่วงวัยด้วย” พญ.นภาพรรณบอกทิ้งท้าย
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th