วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 7 โรคอันตรายในฤดูหนาว

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชน เรื่อง การป้องกันโรคที่เกิดในฤดู หนาว 7 โรค ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง พร้อมแนะนำวิธีการทำเสื้อกันหนาวจากถุง พลาสติกอย่างง่าย           
วันนี้ (31 ตุลาคม 2555)  นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว กรมควบคุมโรคจึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะจากสภาวะอากาศเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่าย ซึ่งโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวมี 7 โรค  ตามประกาศกรมควบคุมโรค  ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด  โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554) พบว่ามีรายงานผู้ป่วยทั้ง 7 โรค ดังนี้ มากสุดคือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 311,415 ราย รองลงมาโรคปอดบวม 46,174 ราย โรคไข้หวัดใหญ่ 10,621 ราย โรคสุกใส 8,884 ราย โรคมือ เท้า ปาก 4,114 ราย โรคหัด 1,110 ราย และโรคหัดเยอรมัน 129 ราย ตามลำดับ
สำหรับในช่วงฤดูหนาวปีนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคจากภัยหนาวส่งไปยังสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต พร้อมเตรียมภารกิจหลักในการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาว ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ประสบภัยหนาว 2.การควบคุมโรค ในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ กรมควบคุมโรคมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน โดยเน้นประชาชนใน 3 กลุ่มเสี่ยง คือ 1.กลุ่มเด็กที่มีอายุตํ่ากว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และ3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต และโรคโลหิตจาง เป็นต้น
นายแพทย์นพพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการป้องกันตนเองจากภัยหนาว ประชาชนต้องสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายเพื่อป้องกันโรค และหากอยู่ในพื้นที่อากาศเย็นลงอย่างต่อเนื่องหรืออุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ควรสวมเสื้อผ้าหนาหรือสวมเสื้อผ้าหลายๆชั้น สวมผ้าพันคอ หมวกและถุงเท้า การทำให้คออุ่นและหูอุ่นเป็นการเก็บอุณหภูมิในร่างกาย สำหรับในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนเสื้อกันหนาว สามารถนำถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่ใช้ใส่ของมาตัดก้นถุง และตัดด้านข้างทั้งสองข้างเพื่อใช้สวมศีรษะและเป็นแขนเสื้อได้ กลายเป็นเสื้อกันหนาวอย่างง่าย เนื่องจากคุณสมบัติของพลาสติก ช่วยกันลมและเก็บความร้อนจากร่างกายได้โดยจะต้องสวมอยู่ชั้นในระหว่างเสื้อ ผ้ากับเสื้อกันหนาวด้านนอก ที่สำคัญถุงพลาสติกต้องสะอาดและไม่เปียกน้ำ ซึ่งถุงต้องมีความหนาพอสมควร เพราะถ้าบางมากอาจขาดได้ง่าย
“หากประชาชนเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นายแพทย์นพพร กล่าวปิดท้าย

ที่มา : กระทรวงสาธารณะสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น