วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รณรงค์โรคปอดบวม ทุก 20 วิมีเด็กเสียชีวิต 1 คน

หมอเด็กเผย ทั่วโลกมีเด็กเสียชีวิตจากโรคปอดบวม 1.5 ล้านคนต่อปี หรือทุก 1 คนต่อ 20 วินาที เร่งรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของโรคนี้ หากมีไข้สูงเกิน 3 วันรีบไปพบแพทย์ 
ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ที่ปรึกษาโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถิติการเสียชีวิตของเด็กส่วนส่วนใหญ่ไม่ว่าเบื้องต้นเป็นโรคอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายจะเสียชีวิตจากโรคปอดบวมหรือไม่ก็เป็นโรคปอดบวมตั้งแต่แรกแล้วถึง 18% หรือจำนวน 1.5 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุกๆ 20 วินาที เฉพาะในประเทศไทยมีเด็กเสียชีวิตปีละประมาณ 2 แสนคน หรือคิดเป็นอัตรา 19 ต่อประชากรเด็ก 1 แสนคน
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาจากประเทศอินเดียพบว่า เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมมากกว่าเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวปกติถึง 25% แต่ผู้ปกครองสามารถป้องกันลูกได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำร่างกายให้แข็งแรง และการรับวัคซีนป้องกันโรคได้ แต่วัคซีนดังกล่าวยังไม่ได้ให้บริการอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่ในปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวเพียง 5% แสดงว่ายังมีคนที่เข้าไม่ถึงการป้องกันรักษาอีกเยอะมาก
“โรคปอดบวมส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว เพราะฉะนั้นหากลูกหลานเริ่มเป็นหวัดก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาการหวัดธรรมดาอาจจะกลายเป็นโรคปอดบวมหรือเสียชีวิตได้ หรือบางรายหากรักษาหายแล้วอาจจะทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตต่อไปในอนาคต” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าว และว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (Who) ได้ผลักดันให้โรคปอดบวมเป็นประเด็นสุขภาพระดับโลก และต้องการให้ทุกประเทศมีความรู้และตระหนักถึงการป้องกันโรคปอดบวมในเด็ก อย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 12 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันปอดบวมโลก
ด้าน รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าว ว่า โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อนิวโมค็อกคัส และเชื้อไวรัสเอ็นทีเอชไอ (NTHi) ที่มักจะเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง นอกจากนี้ เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนนำไปสู่การเสียชีวิต หรือในบางรายหากรักษาได้อาจจะก่อให้เกิดความพิการตามมาได้
“ปัจจุบันการรับวัคซีนไอกรน คอตีบ ก็สามารถป้องกันโรคปอดบวมได้ แต่ยังมีวัคซีนทางเลือกที่ป้องกันเชื้อไวรัสนิวโมค็อกคัสได้โดยตรง ซึ่งตรงนี้ผู้ปกครองต้องออกค่าใช้จ่ายเอง โดยวัคซีนดังกล่าวจะฉีดให้กับเด็กแรกเกิดในช่วง 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และช่วง 12-15 เดือน หรือถ้าในเด็กอายุเกิน 1 ปีขึ้นไปแล้วยังไม่ได้รับวัคซีน และยังไม่เคยเป็นโรคปอดบวมเลย จะได้รับวัคซีน 2 เข็ม” รศ.พญ.อัจฉรากล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น