เพราะในสังคมของมนุษย์ทุกหนทุกแห่งจะเต็มไปด้วยภัยอันตราย ทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น ดังนั้น คนทุกคนจึงต้อง “มีภูมิคุ้มกัน” เอาไว้ป้องกันตัวเอง และในกระบวน ภูมิคุ้มกัน (มนุษย์) ที่ดีที่สุด และหาได้ง่ายที่สุด ตั้งแต่แรกเกิด คือ “นมแม่”
“นมแม่” นับเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกๆ ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด เพราะมีการวิจัยว่าคุณค่าสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำนมแม่นั้นมีมากกว่า 200 ชนิด ที่เป็นภูมิคุ้มกันชั้นยอดต่อการช่วยปกป้องลูกจากการเจ็บป่วย...แต่ปัจจุบัน นี้ยังมีคุณแม่มือใหม่ที่มีความเชื่อว่านมผงสามารถทดแทนนมแม่ได้ไม่แพ้กัน
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรม “สัปดาห์นมแม่โลก 2555 ช่วยเด็กไทยให้ได้กินนมแม่” เพื่อรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตลอด 6 เดือนแรก
พญ.ศิริพร กัญชณะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว ว่า “นมแม่มีความสำคัญต่อลูกตั้งแต่แรกเกิดมาก เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ส่วนนมผงมีการเติมสารอาหารลงไปเพียง 6 ชนิดเท่านั้น ดังนั้นนมแม่จึงมีสารอาหารมากกว่านมผงหลายเท่า และยังช่วยสร้างภูมิคุ้มให้กับลูกได้ เช่น สารไลไซซายม์ สาร secretarylgaสาร prebiotic(oligosaccharide) สาร glycan เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้ร่างกายของแม่สามารถผลิตใหม่ได้ทุกวัน ดังนั้น ควรให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวครบ 6 เดือน เพื่อให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เช่น ท้องเสีย ปอดบวม โรคลำไส้อักเสบ ภูมิแพ้ ภาวะอ้วน และการเสียชีวิตในที่สุด”
ล่าสุด ครม.ได้เห็นชอบมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการทำการตลาดและการโฆษณานมสำหรับ ทารกและเด็กเล็ก ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมาให้พิจารณา
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวณิช ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า บริษัทนมผงได้ทำการตลาด เช่น การโฆษณาที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่า “นมผงมีคุณค่าทดแทนนมแม่ได้” หรือ “การแจกผลิตภัณฑ์นมผง” ให้แก่แม่หลังคลอดในโรงพยาบาล สถานบริการของรัฐ ทั้งๆ ที่บริษัทรู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิด และอีกอย่างคือ แม่ไม่ได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือวิธีให้นมแม่และคุณประโยชน์ของนมแม่ที่ลูก ควรได้รับอย่างถูกต้องตั้งแต่ตั้งครรภ์จนกระทั่งหลังคลอด ทำให้แม่ส่วนใหญ่หันมาให้ลูกกินนมผงแทน ส่งผลให้ลูกไม่ได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าตั้งแต่เริ่มต้น จึงอยากให้ตระหนักว่า “นมผงนั้นไม่ใช่สินค้าอันตราย แต่นมแม่มีคุณค่ามากกว่านมผง”
ด้านคุณแม่มือใหม่ ปอ-ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์ พิธีกรชื่อดัง และผู้จัดรายการ 30 ยังแจ๋ว ทางโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่ง ถือเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่ทำงานนอกบ้านเป็นประจำ แต่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองได้ตั้งแต่แรกเกิด เปิดเผยให้ทราบว่า “ปอเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองตั้งแต่ลูกเกิดเลยจนถึงตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบ 3 เดือนก็ยังให้กินนมตัวเองอยู่ ลูกมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจารย์ที่สอนพัฒนาการสมองลูก จากศูนย์พัฒนาศักยภาพสมองเด็ก 6 เดือน ถึง6 ขวบ หรือเบบี้ส์ จีเนียส (Baby genie) ที่ได้ส่งลูกไปเรียน อาจารย์เล่าให้ฟังว่าลูกมีความจำที่ดีมาก ไม่ว่าสอนอะไรเขาจำได้เร็ว เพราะการให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดนี่เอง และที่สำคัญไปกว่านั้นลูกยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่ายเหมือนเด็กคนอื่นๆ ด้วย”
คุณแม่ปอ ยังบอกด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มอีกว่า ตอนที่ยังไม่คลอดลูก มีความกลัวมากว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองไม่ได้ เพราะกลัวไม่มีน้ำนมเพียงพอจนถึง 6 เดือน จึงได้ขอคำแนะนำจาก คุณ เอ้-อังสณา วงศ์ศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และเฟซบุ๊ค ชุมชนนมแม่ออนไลน์ เนื่องจากตอนนั้นไม่รู้ว่าจะขอคำปรึกษาใคร เลยไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เนตแล้วพบกับเฟซบุ๊คของคุณเอ้ จึงเข้าไปขอคำปรึกษา
“คุณเอ้ได้ให้คำแนะนำที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างการปั๊มนมให้ลูก ปั๊มนมได้น้อยมากนมออกมาทีละนิด ละน้อย พี่เอ้ก็มาสอนเทคนิคว่าจะทำอย่างไรให้ได้เยอะ คือต้องเริ่มต้นปั๊มนมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยปั๊มให้ได้วันละ 8-10 ครั้ง ยิ่งปั๊มได้บ่อยแค่ไหน ก็จะยิ่งทำให้เต้านมผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ในที่สุด ตอนนี้สามารถปั๊มนมให้ลูกในจำนวนที่ต้องการได้ ถ้ามีคนอื่นมาถามเกี่ยวกับการเลือกนมให้ลูกก็จะบอกไปเลยว่าให้ลูกกินนมแม่ดี ที่สุด ถ้าคุณอยากให้ลูกได้รับสิ่งดีๆ ที่เปรียบเหมือนการมอบมรดกให้ลูก คือ การที่ลูกมีสุขภาพแข็งแรง ภูมิต้านทานที่ดี และพัฒนาการที่สมวัย ก็ควรให้ลูกกินนมแม่” แม่ปอ กล่าวอย่างมีความสุข
ได้ยินได้ฟัง และได้พบเห็นมาอย่างนี้ เชื่อว่า คุณแม่ (มือใหม่) อีกหลายๆ คน คงจะหยุดคิดได้สักนิดว่า หากรักลูกอยากหา “ภูมิคุ้มกันให้กับลูกไปจนตลอดชีวิต อย่าลืมที่จะนึกถึง “นมแม่” เพื่อลูกจะได้รับสิ่งดีๆ ทั้งความฉลาด พัฒนาการที่สมวัย สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนคือ นมแม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น